วันเสาร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ปัญหาครู - ปัญหากาศึกษาไทย


ความพยายามในการพัฒนาครูผู้สอนด้วยการเพิ่มความเข้มข้นของหลักสูตรการสอน และการกระจายสถาบันผลิตครู ถือเป็นความหวังในการยกระดับครูผู้สอนและลดปัญหาด้านการขาดแคลนครูในปัจจุบัน แต่ปัญหาของครูยังคงพบว่ามีหลายปัจจัยบั่นทอน ที่อาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของครู และส่งผลกระทบบั่นทอนวิชาชีพครู จนเป็นปัญหาของระบบครูในปัจจุบัน
หากมองเจาะลึกถึงปัญหาครูไทยจะพบว่ามีความเป็นจริงหลายประการที่ควรต้องมีการแก้ไขเพื่อแก้ปัญหาครู กล่าวคือ

1) ปัญหาด้านคุณภาพของครู ที่ผ่านมาพบว่าครูผู้สอนในสาขาวิชาสำคัญๆ เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษา เป็นต้น มักขาดแคลน หมายความว่าการพัฒนาคุณภาพครูเพื่อสอนในวิชาหลักยังคงขาดการพัฒนา แม้จะมีความพยายามในการพัฒนาวิชาชีพครูแต่การพัฒนาครูกลับมีการถูกมองว่ายังคงไม่มีความชัดเจนทางนโยบายในการที่จะสนับสนุนให้ผู้สำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาที่ตรงกับเนื้อหาสาระ เช่น บัณฑิตทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษา หันเข้ามาหาวิชาชีพครู
แม้จะมีการบริหารจัดการการปฏิรูปการฝึกหัดครู พัฒนาครู และบุคลากรทางการศึกษา การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ การปฏิรูปครูและบุคลากรทางการศึกษา (2547-2556) ฯลฯ แต่การพัฒนาคุณภาพครูจึงอาจเป็นโจทย์ที่ย้อนกลับมาว่า การผลิตครูให้มากขึ้นควรมุ่งเน้นไปที่จุดใด การมุ่งเน้นผลิตครูที่มีความชำนาญตรงสายวิชาชีพ หรือการเปิดรับครูที่ชำนาญด้านการสอนจากนอกสายวิชาชีพ ควรมีสัดส่วนเช่นไร เพราะที่ผ่านมาหากครูผู้สอนจบไม่ตรงสายต้องมีการเรียนเพิ่มเติมอีก 1 ปี จึงมีการมองว่าอาจเป็นการผลักครูผู้สอนให้เข้าสู่วิชาชีพยากขึ้น...ซึ่งส่งผลต่อปัญหาต่อมา คือ

2) ปัญหาการขาดแคลนครู สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้สำรวจภาวะการขาดแคลนครูในสังกัดตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค) ในปี 2550 พบว่า โรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วประเทศยังขาดแคลนครูประมาณ 70,000 คน โดยมีสาเหตุจากการผลิตและบรรจุครูไม่สัมพันธ์กัน อย่างไรก็ดี การผลิตครูในแต่ปีละอยู่ที่ประมาณ 12,000 คน ในขณะที่อัตราการบรรจุครูใหม่ในแต่ละปีมีเพียง 3-4 พันคนเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าในแต่ละปี บัณฑิตครูที่จบออกมาใหม่จะมีการตกงานหรือทำงานไม่ตรงสายงานเดิมเกินกว่าครึ่ง
ปัญหาที่เยาวชนรุ่นใหม่สนใจเข้าทำงานในวิชาชีพครูน้อยลง อาจเนื่องมาจากรายได้ของครูที่ต่ำกว่าอาชีพทั่วไป ขณะที่ภาระความรับผิดชอบในหน้าที่สูง และภาพลักษณ์ของความยากลำบากในการเป็นเรือจ้างผู้สั่งสอนเด็กและเยาวชน สถานการณ์เช่นนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลถึงภาพพจน์และความนิยมในการเข้าศึกษาในสาขาวิชาครู ที่ไม่ดึงดูดให้นักเรียนตัดสินใจเข้ามาเรียนครู

3) ปัญหาหนี้สินครู ถือเป็นปัญหาหลักและบั่นทอนวิชาชีพครูมากที่สุด ทั้งนี้ปัจจุบันมีครูมากกว่า 130,000 คน อยู่ในสภาพมีหนี้สินล้นพ้นตัวเฉลี่ยหนี้คนละ 1.1 ล้านบาท ทำให้ครูขาดขวัญกำลังใจในการทำงาน มีคุณภาพชีวิตลดลง และต้องทำงานเพื่อหารายได้เสริม ทำให้การอุทิศตนต่อการปฏิบัติหน้าที่ครูได้ไม่เต็มที่ส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ในการเรียนการสอนลดลง
หากมองถึงโครงสร้างเงินเดือนครูในระบบราชการ อาจกล่าวได้ว่าฐานเงินเดือนยังไม่เหมาะกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งรายได้ที่ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ทำให้ครูหันไปกู้ยืมเงิน หรือทำอาชีพเสริมขายตรง เพื่อหารายได้เพิ่ม ซึ่งนอกจากจะเป็นปัญหาสั่งสมในระบบ ยังบั่นทอนการทำงานของครูลงด้วย

ปัจจัยทั้งหมดนี้ล้วนมีผลต่อวิชาชีพครู และที่สำคัญต่อภาพลักษณ์ของครูอย่างเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น นอกจากการส่งเสริมและพัฒนาครูแล้วนั้น ครูก็ควรจะมีความกดดันในการดำรงชีพน้อยลง ด้วยการที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหันมาส่งเสริมและยกระดับวิชาชีพครูให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงหาแนวทางในการลดภาระครูและส่งเสริมอัตราเงินเดือนเพื่อเป็นแรงจูงใจในการผลิตครูรุ่นใหม่ เป็นต้น เพื่อให้การพัฒนาการศึกษาของเด็กไทยมีศักยภาพเพิ่มขึ้นต่อไป

4 ป 1 ส กับการศึกษาไทย คืออะไร?

ป ที่ 1 เปลี่ยนการเรียน
เริ่มจากเป้าหมายการศึกษา เป็นที่ทราบกันดีว่า ส่วนใหญ่ในปัจจุบัน เรียนเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐให้ได้ หรือเรียนเพื่อให้ได้เกียรติบัตร หรือเรียนเพื่อความภูมิใจของพ่อแม่และวงศ์ตระกูล เหล่านี้ดูเหมือนงดงาม แต่ทว่าขาดแรงผลักดันที่ยั่งยืน กล่าวคือ เมื่อบรรลุซึ่งสิ่งดังกล่าว พฤติกรรมการเรียนรู้ก็หยุดชะงักลง เช่น สอบเข้ามหาลัยได้แล้วก็หยุดค้นคว้า หยุดอ่านหนังสือ หยุดต่อยอดความรับรู้เดิม เราพบว่าเป้าหมายเหล่านี้ควรถูกลดเป็นเป้าหมายรองน่าจะดีกว่า แล้วควรพัฒนาเป้าหมายหลักในการเพิ่มพูนความรู้ พัฒนาตนเองให้มีสติและปัญญาที่จะสามารถครองชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข และดำรงตนเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นได้อย่างดี


ป ที่ 2 ปรับการสอน
แน่นอนย่อมเกี่ยวข้องกับบุคลากรอีกกลุ่ม คือ ครู เป้าหมายของการสอนหนังสือของครูในปัจจุบันถูกแปรเปลี่ยนมากตามสภาพเศรษฐกิจและสังคม หลายคนสอนเพื่อเงินเดือน หลายคนสอนเพื่อค่ากวดวิชา หลายคนทำเพื่อตำแหน่งหน้าที่การงาน การเลื่อนซี หาใช่เพื่อการเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับลูกศิษย์ไม่ จะเป็นเรื่องที่ท้าทายหรือเรื่องที่น่าตื่นเต้นหรือไม่ที่ครูจะได้พบลูกศิษย์ที่หลากหลายทุกปี จะเป็นแรงกระตุ้นที่ดีหรือไม่ที่จะพยายามปรับการสอนให้สอดคล้องกับยุคสมัยตลอดเวลา การเฆี่ยน ตี ดุ ด่า หรือ กระทบเทียบไม่ควรเป็นคุณสมบัติของครูที่มีจิตวิญญาณอันงดงามเลย การแลกเปลี่ยนเพื่อกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของเด็ก และการโน้มน้าวให้เด็กที่มีพัฒนาการที่ดีสามารถต่อยอดในสิ่งที่ยากยิ่งกว่าได้ น่าจะเป็นคุณสมบัติของครูที่ดีมิใช่หรือ


ป ที่ 3 ปฏิรูปการสอบ
การสอบคือ เครื่องมือในการประเมินผลการเรียนรู้หรือการสอนของทั้งผู้เรียนและผู้สอน มิใช่คำพิพากษาที่จะระบุความเป็นคนโง่หรือฉลาดให้กับเด็ก ไม่ใช่เครื่องมือในการตัดสินชะตาชีวิตของทั้งชีวิตของลูกศิษย์
ลูกศิษย์ที่ทำข้อสอบไม่ได้ตรงตามที่ผู้สอนต้องการ ควรได้รับการเยียวยาเพื่อเพิ่มความเข้าใจให้มากขึ้นจากผู้สอนโดยไม่คิดมูลค่า ส่วนเกียรติรางวัลสำหรับผู้เข้าใจหรือทำข้อสอบได้ ไม่ควรต้องใส่ใจเป็นพิเศษแต่อย่างใด เพราะถือว่าเขาสามารถช่วยเหลือตนเองได้อย่างดีแล้ว ตรงข้ามหากมีการส่งเสริมจนเกินเหตุอาจส่งผลให้เกิดความโอหังทางวิชาการหรือเหยียดหยามผู้ได้คะแนนต่ำกว่าโดยใช่เหตุ สังคมควรสอนให้มีการเกื้อกูลผู้ที่ด้อยกว่าเสมอ
ข้อสอบที่สมควรส่งเสริมให้มีมากขึ้นคือ ข้อสอบแบบเขียนตอบ หรืออัตนัย เพราะเป็นการส่งเสริมให้เด็กได้ฝึกฝนการเรียบเรียงความคิดในการสื่อสารกับผู้อื่น อีกทั้งเป็นการเปิดมุมมองทางวิชาการให้กว้างขวาง ส่วนข้อสอบปรนัย ควรมีเท่าที่จำเป็นเพื่อไว้ใช้หลอกล่อให้ผู้สอบมึนงงหรือไว้ตรวจสอบความแม่นยำอีกทอดหนึ่งหรือการสอบที่ต้องการความรวดเร็วในการรู้ผล เพราะเหตุว่าข้อสอบแนวนี้เป็นข้อสอบในการจำกัดกรอบความคิดให้กับเด็ก อีกทั้งส่งเสริมวิชามารในการสอบ เช่น สามารถนำคำตอบมาแทนค่าคำถามได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการคิด


ป ที่ 4 ปฏิวัติการเลือกเรียน
เด็กวัยรุ่นหลายคนในปัจจุบันมักอ้างการเลือกเรียนว่า ทำเพื่อพ่อแม่บ้าง ทำเพื่อครอบครัวบ้าง ซึ่งเมื่อจบการศึกษาขั้นสูงไปแล้วมักไม่ได้ใช้วิชาชีพที่ตนร่ำเรียนมาให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม นับเป็นความสูญเสียของการศึกษาอีกเช่นกัน เพราะเขาเหล่านั้นไม่ได้เลือกเรียนตามความสนใจ ความสามารถหรือศักยภาพที่ตนเองมีเป็นหลักในการเลือก อีกมุมหนึ่งของผู้เลือกเรียนก็มักเลือกเรียนในสายอาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการทางการตลาดแรงงานเป็นสำคัญ เช่น อาชีพที่ให้ผลตอบแทนสูง อาชีพที่มีเกียรติยศ ชื่อเสียงเป็นที่เชิดหน้าชูตาในสังคม

10 อันดับปัญหาทางการศึกษา

ปัญหาการศึกษาไทย เป็นปัญหาที่เรื้อรังมาโดยตลอด การระดมความคิดเห็นของ ผู้บริหารการศึกษา ทั้งในด้านการสะท้อนปัญหาและการแก้ไขปัญหาเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง สวนดุสิตโพล สถาบันราชภัฎสวนดุสิต จึงได้สอบถามความคิดเห็นของผู้บริหารการศึกษาระดับสูงและระดับกลาง ที่สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 216 คน (ทั้งผู้บริหารในกระทรวงศึกษาธิการ , ผู้บริหารสถานศึกษาทุกระดับ)ในวันที่ 14 มกราคม 2543 สรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้ 10 ปัญหาการศึกษาไทย ที่หนักอกผู้บริหารการศึกษา และแนวทางการแก้ไข
อันดับที่ 1 ยาเสพติด 30.43%
วิธีการแก้ไข ทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงจัง, จัดกิจกรรมให้กับนักศึกษามากขึ้น, ดำเนินการอย่างจริงจัง/ มีบทลงโทษเด็ดขาด ฯลฯ
อันดับที่ 2 ความตระหนักในบทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบของบุคลากรทางการศึกษา 12.56%
วิธีการแก้ไข ให้ความสำคัญกับอาชีพอย่างจริงจัง,กำหนดบทลงโทษและลงโทษอย่างเฉียบขาด สำหรับผู้ขาดความรับผิดชอบ, จัดทำบัญชีเงินเดือนให้สูงขึ้น ฯลฯ
อันดับที่ 3 เงินกู้ยืม ทุนการศึกษา มีไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ต้องการ 12.08%
วิธีการแก้ไข รัฐบาลควรให้ความสนับสนุนโดยช่วยเหลือนักเรียนและสถาบันการศึกษา, การมีข้าราชการประจำทำงานโดยเฉพาะ, จัดสรรงบประมาณ, ตั้งกองทุนกู้ยืม ฯลฯ
อันดับที่ 4 สถานศึกษาขาดปัจจัยสนับสนุน ด้านบุคลากร และงบประมาณที่เหมาะสม 11.59%
วิธีการแก้ไข รีบเร่งหามาตรการแนวทางในการสรรหาบุคลากรทางการศึกษาที่มีคุณภาพ, เพิ่มงบประมาณ,ใช้งบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ฯลฯ
อันดับที่ 5 นักศึกษา/ นักเรียน ขาดคุณภาพ 11.11%
วิธีการแก้ไข ดูแลกวดขันมากขึ้น, พัฒนาบุคลากรทางการศึกษาเข้าสู่ระดับมาตรฐาน,จัดหาอาจารย์ผู้มีความสามารถและรับผิดชอบดูแล ฯลฯ
อันดับที่ 6 วัฒนธรรม / จริยธรรมเสื่อมโทรมลง 8.21%
วิธีการแก้ไข ให้ทางสถาบันกวดขันความประพฤติมากขึ้น, ควรกำหนดเนื้อหาวิชาศาสนา จริยธรรม เป็นวิชาแกนบังคับ, ผู้ปกครองควรช่วยกันดูแล ฯลฯ
อันดับที่ 7 การแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารของกระทรวงศึกษาไม่โปร่งใส/ไม่ยุติธรรม 5.13%
วิธีการแก้ไข มีคณะกรรมการที่โปร่งใส/ ยุติธรรมดำเนินการ, ไม่ควรให้นักการเมืองมาจุ้นจ้าน, จัดให้มีการสอบขึ้นบัญชีชัดเจน ฯลฯ
อันดับที่ 8 หลักสูตรการเรียนการสอนล้าสมัย 3.38%
วิธีการแก้ไข จัดการเรียนให้มีการพัฒนาพร้อมทั้งมีเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก,เปิดให้มีสถาบันรับรองการศึกษานอกจากองค์กรของรัฐ, ระดมครูทั้งประเทศร่วมกันคิดอย่างทั่วถึง ฯลฯ
อันดับที่ 9 การแต่งกายและการขาดระเบียบวินัยของนักศึกษา 2.90%
วิธีการแก้ไข กวดขันเรื่องการแต่งกายมากขึ้น, อาจารย์ที่ปรึกษาต้องทุ่มเทเวลาต่าง ๆ ใกล้ชิดมากกว่านี้, ปลูกจิตสำนึกให้เข้าใจในบทบาทและหน้าที่ ฯลฯ
อันดับที่ 10 การปฏิรูปการศึกษาที่ล่าช้า ไม่มีแนวทางชัดเจน 2.61%
วิธีการแก้ไข ควรเร่งชี้แจงให้ผู้บริหารสถานศึกษาได้รับทราบอย่างชัดเจนและเร่งสร้างความเข้าใจแก่บุคลากรในกระทรวง ฯลฯ




บรรณานุกรม

โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย. (2550). รายงานการพัฒนาคน
ของประเทศไทยปี 2550. กรุงเทพฯ: คีนพลับบิชิง.
รุ่ง แก้วแดง. (2544). การปฏิวัติการศึกษาไทย. กรุงเทพฯ: มติชน
เลขา ปิยะอัจฉริยะ. การเสวนาเรื่องยุทธศาสตร์และการจัดการความรู้พื้นฐานเพื่อ
การพัฒนาครู สืบค้น 10 /8/2550. จาก www.manager.co.th/Daily/Viewnews.apx?
วราภรณ์ สามโกเศศ. (2550). การแก้ปัญหาหนี้สินครู. สืบค้น 5/4/2550
จาก www.moe.go.th/websm/newsapr07
สมชาย บุญศิริเภสัช. (2545). การศึกษาการเสริมสร้างพลังอำนาจการทำงานของครู
ในโรงเรียนมัธยมศึกษา เขตการศึกษา 8 ปริญญานิพนธ์ กศ.ด.(การบิหารการศึกษา)
กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ถ่ายเอกสาร
สำนักงานดูแลนักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกา(2549) ดัชนีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
สืบค้น 14/8/2550 จาก www.oeadc.org/scho/ars/state
สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี. (2550). กระทรวงศึกษาธิการเสนอแนวทางครูสหกิจ.
สืบค้น 15/2/2550 จาก www.moe.go.th/websm/newsFeb07
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2545). รายงานสภาวะการศึกษาไทยต่อประชาชน:
ปมปฏิรูป. กรุงเทพฯ: พิมพ์ดี
________ . (2548). สภาวะการขาดแคลนครูในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของ
ประเทศไทย. กรุงเทพฯ.พริกหวานกราฟฟิก
________ . (2549). รายงานการติดตามและประเมินความก้าวหน้าการปฏิรูปการศึกษา
ด้านการเรียนรู้. กรุงเทพฯ: 21 เซ็นจูรี.
อมรวิชช์ นาครทรรพ. (2550). อมรวิชช์เสนอการพัฒนาครูเป็นยุทธศาสตร์แห่งชาติ.
สืบค้น 7/6/2550 จาก http://school.obec.go.th/kroosakon/news/view.php?no=107
ASEAN (2005, 19 August). Statement of the Ministers Responsible for Education.
Of ASEAN Countries.
Knight, Arletta Buaman. (2006) Teacher “ Credibility”: A Tool for Diagnosing Problem In Teacher/ Student
Relationships. Retrieved 7/6/2007 from www.ou.edu/pii/tips/ideas/credibility.html.
Reimers, Eleonora Villegas. (2003). Teacher Professional Development: An
International Review of the Literature. Paris. CHEMS