วันเสาร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

4 ป 1 ส กับการศึกษาไทย คืออะไร?

ป ที่ 1 เปลี่ยนการเรียน
เริ่มจากเป้าหมายการศึกษา เป็นที่ทราบกันดีว่า ส่วนใหญ่ในปัจจุบัน เรียนเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐให้ได้ หรือเรียนเพื่อให้ได้เกียรติบัตร หรือเรียนเพื่อความภูมิใจของพ่อแม่และวงศ์ตระกูล เหล่านี้ดูเหมือนงดงาม แต่ทว่าขาดแรงผลักดันที่ยั่งยืน กล่าวคือ เมื่อบรรลุซึ่งสิ่งดังกล่าว พฤติกรรมการเรียนรู้ก็หยุดชะงักลง เช่น สอบเข้ามหาลัยได้แล้วก็หยุดค้นคว้า หยุดอ่านหนังสือ หยุดต่อยอดความรับรู้เดิม เราพบว่าเป้าหมายเหล่านี้ควรถูกลดเป็นเป้าหมายรองน่าจะดีกว่า แล้วควรพัฒนาเป้าหมายหลักในการเพิ่มพูนความรู้ พัฒนาตนเองให้มีสติและปัญญาที่จะสามารถครองชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข และดำรงตนเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นได้อย่างดี


ป ที่ 2 ปรับการสอน
แน่นอนย่อมเกี่ยวข้องกับบุคลากรอีกกลุ่ม คือ ครู เป้าหมายของการสอนหนังสือของครูในปัจจุบันถูกแปรเปลี่ยนมากตามสภาพเศรษฐกิจและสังคม หลายคนสอนเพื่อเงินเดือน หลายคนสอนเพื่อค่ากวดวิชา หลายคนทำเพื่อตำแหน่งหน้าที่การงาน การเลื่อนซี หาใช่เพื่อการเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับลูกศิษย์ไม่ จะเป็นเรื่องที่ท้าทายหรือเรื่องที่น่าตื่นเต้นหรือไม่ที่ครูจะได้พบลูกศิษย์ที่หลากหลายทุกปี จะเป็นแรงกระตุ้นที่ดีหรือไม่ที่จะพยายามปรับการสอนให้สอดคล้องกับยุคสมัยตลอดเวลา การเฆี่ยน ตี ดุ ด่า หรือ กระทบเทียบไม่ควรเป็นคุณสมบัติของครูที่มีจิตวิญญาณอันงดงามเลย การแลกเปลี่ยนเพื่อกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของเด็ก และการโน้มน้าวให้เด็กที่มีพัฒนาการที่ดีสามารถต่อยอดในสิ่งที่ยากยิ่งกว่าได้ น่าจะเป็นคุณสมบัติของครูที่ดีมิใช่หรือ


ป ที่ 3 ปฏิรูปการสอบ
การสอบคือ เครื่องมือในการประเมินผลการเรียนรู้หรือการสอนของทั้งผู้เรียนและผู้สอน มิใช่คำพิพากษาที่จะระบุความเป็นคนโง่หรือฉลาดให้กับเด็ก ไม่ใช่เครื่องมือในการตัดสินชะตาชีวิตของทั้งชีวิตของลูกศิษย์
ลูกศิษย์ที่ทำข้อสอบไม่ได้ตรงตามที่ผู้สอนต้องการ ควรได้รับการเยียวยาเพื่อเพิ่มความเข้าใจให้มากขึ้นจากผู้สอนโดยไม่คิดมูลค่า ส่วนเกียรติรางวัลสำหรับผู้เข้าใจหรือทำข้อสอบได้ ไม่ควรต้องใส่ใจเป็นพิเศษแต่อย่างใด เพราะถือว่าเขาสามารถช่วยเหลือตนเองได้อย่างดีแล้ว ตรงข้ามหากมีการส่งเสริมจนเกินเหตุอาจส่งผลให้เกิดความโอหังทางวิชาการหรือเหยียดหยามผู้ได้คะแนนต่ำกว่าโดยใช่เหตุ สังคมควรสอนให้มีการเกื้อกูลผู้ที่ด้อยกว่าเสมอ
ข้อสอบที่สมควรส่งเสริมให้มีมากขึ้นคือ ข้อสอบแบบเขียนตอบ หรืออัตนัย เพราะเป็นการส่งเสริมให้เด็กได้ฝึกฝนการเรียบเรียงความคิดในการสื่อสารกับผู้อื่น อีกทั้งเป็นการเปิดมุมมองทางวิชาการให้กว้างขวาง ส่วนข้อสอบปรนัย ควรมีเท่าที่จำเป็นเพื่อไว้ใช้หลอกล่อให้ผู้สอบมึนงงหรือไว้ตรวจสอบความแม่นยำอีกทอดหนึ่งหรือการสอบที่ต้องการความรวดเร็วในการรู้ผล เพราะเหตุว่าข้อสอบแนวนี้เป็นข้อสอบในการจำกัดกรอบความคิดให้กับเด็ก อีกทั้งส่งเสริมวิชามารในการสอบ เช่น สามารถนำคำตอบมาแทนค่าคำถามได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการคิด


ป ที่ 4 ปฏิวัติการเลือกเรียน
เด็กวัยรุ่นหลายคนในปัจจุบันมักอ้างการเลือกเรียนว่า ทำเพื่อพ่อแม่บ้าง ทำเพื่อครอบครัวบ้าง ซึ่งเมื่อจบการศึกษาขั้นสูงไปแล้วมักไม่ได้ใช้วิชาชีพที่ตนร่ำเรียนมาให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม นับเป็นความสูญเสียของการศึกษาอีกเช่นกัน เพราะเขาเหล่านั้นไม่ได้เลือกเรียนตามความสนใจ ความสามารถหรือศักยภาพที่ตนเองมีเป็นหลักในการเลือก อีกมุมหนึ่งของผู้เลือกเรียนก็มักเลือกเรียนในสายอาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการทางการตลาดแรงงานเป็นสำคัญ เช่น อาชีพที่ให้ผลตอบแทนสูง อาชีพที่มีเกียรติยศ ชื่อเสียงเป็นที่เชิดหน้าชูตาในสังคม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น