วันเสาร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ปัญหาครู - ปัญหากาศึกษาไทย


ความพยายามในการพัฒนาครูผู้สอนด้วยการเพิ่มความเข้มข้นของหลักสูตรการสอน และการกระจายสถาบันผลิตครู ถือเป็นความหวังในการยกระดับครูผู้สอนและลดปัญหาด้านการขาดแคลนครูในปัจจุบัน แต่ปัญหาของครูยังคงพบว่ามีหลายปัจจัยบั่นทอน ที่อาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของครู และส่งผลกระทบบั่นทอนวิชาชีพครู จนเป็นปัญหาของระบบครูในปัจจุบัน
หากมองเจาะลึกถึงปัญหาครูไทยจะพบว่ามีความเป็นจริงหลายประการที่ควรต้องมีการแก้ไขเพื่อแก้ปัญหาครู กล่าวคือ

1) ปัญหาด้านคุณภาพของครู ที่ผ่านมาพบว่าครูผู้สอนในสาขาวิชาสำคัญๆ เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษา เป็นต้น มักขาดแคลน หมายความว่าการพัฒนาคุณภาพครูเพื่อสอนในวิชาหลักยังคงขาดการพัฒนา แม้จะมีความพยายามในการพัฒนาวิชาชีพครูแต่การพัฒนาครูกลับมีการถูกมองว่ายังคงไม่มีความชัดเจนทางนโยบายในการที่จะสนับสนุนให้ผู้สำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาที่ตรงกับเนื้อหาสาระ เช่น บัณฑิตทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษา หันเข้ามาหาวิชาชีพครู
แม้จะมีการบริหารจัดการการปฏิรูปการฝึกหัดครู พัฒนาครู และบุคลากรทางการศึกษา การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ การปฏิรูปครูและบุคลากรทางการศึกษา (2547-2556) ฯลฯ แต่การพัฒนาคุณภาพครูจึงอาจเป็นโจทย์ที่ย้อนกลับมาว่า การผลิตครูให้มากขึ้นควรมุ่งเน้นไปที่จุดใด การมุ่งเน้นผลิตครูที่มีความชำนาญตรงสายวิชาชีพ หรือการเปิดรับครูที่ชำนาญด้านการสอนจากนอกสายวิชาชีพ ควรมีสัดส่วนเช่นไร เพราะที่ผ่านมาหากครูผู้สอนจบไม่ตรงสายต้องมีการเรียนเพิ่มเติมอีก 1 ปี จึงมีการมองว่าอาจเป็นการผลักครูผู้สอนให้เข้าสู่วิชาชีพยากขึ้น...ซึ่งส่งผลต่อปัญหาต่อมา คือ

2) ปัญหาการขาดแคลนครู สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้สำรวจภาวะการขาดแคลนครูในสังกัดตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค) ในปี 2550 พบว่า โรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วประเทศยังขาดแคลนครูประมาณ 70,000 คน โดยมีสาเหตุจากการผลิตและบรรจุครูไม่สัมพันธ์กัน อย่างไรก็ดี การผลิตครูในแต่ปีละอยู่ที่ประมาณ 12,000 คน ในขณะที่อัตราการบรรจุครูใหม่ในแต่ละปีมีเพียง 3-4 พันคนเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าในแต่ละปี บัณฑิตครูที่จบออกมาใหม่จะมีการตกงานหรือทำงานไม่ตรงสายงานเดิมเกินกว่าครึ่ง
ปัญหาที่เยาวชนรุ่นใหม่สนใจเข้าทำงานในวิชาชีพครูน้อยลง อาจเนื่องมาจากรายได้ของครูที่ต่ำกว่าอาชีพทั่วไป ขณะที่ภาระความรับผิดชอบในหน้าที่สูง และภาพลักษณ์ของความยากลำบากในการเป็นเรือจ้างผู้สั่งสอนเด็กและเยาวชน สถานการณ์เช่นนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลถึงภาพพจน์และความนิยมในการเข้าศึกษาในสาขาวิชาครู ที่ไม่ดึงดูดให้นักเรียนตัดสินใจเข้ามาเรียนครู

3) ปัญหาหนี้สินครู ถือเป็นปัญหาหลักและบั่นทอนวิชาชีพครูมากที่สุด ทั้งนี้ปัจจุบันมีครูมากกว่า 130,000 คน อยู่ในสภาพมีหนี้สินล้นพ้นตัวเฉลี่ยหนี้คนละ 1.1 ล้านบาท ทำให้ครูขาดขวัญกำลังใจในการทำงาน มีคุณภาพชีวิตลดลง และต้องทำงานเพื่อหารายได้เสริม ทำให้การอุทิศตนต่อการปฏิบัติหน้าที่ครูได้ไม่เต็มที่ส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ในการเรียนการสอนลดลง
หากมองถึงโครงสร้างเงินเดือนครูในระบบราชการ อาจกล่าวได้ว่าฐานเงินเดือนยังไม่เหมาะกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งรายได้ที่ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ทำให้ครูหันไปกู้ยืมเงิน หรือทำอาชีพเสริมขายตรง เพื่อหารายได้เพิ่ม ซึ่งนอกจากจะเป็นปัญหาสั่งสมในระบบ ยังบั่นทอนการทำงานของครูลงด้วย

ปัจจัยทั้งหมดนี้ล้วนมีผลต่อวิชาชีพครู และที่สำคัญต่อภาพลักษณ์ของครูอย่างเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น นอกจากการส่งเสริมและพัฒนาครูแล้วนั้น ครูก็ควรจะมีความกดดันในการดำรงชีพน้อยลง ด้วยการที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหันมาส่งเสริมและยกระดับวิชาชีพครูให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงหาแนวทางในการลดภาระครูและส่งเสริมอัตราเงินเดือนเพื่อเป็นแรงจูงใจในการผลิตครูรุ่นใหม่ เป็นต้น เพื่อให้การพัฒนาการศึกษาของเด็กไทยมีศักยภาพเพิ่มขึ้นต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น